วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สาขาต่างๆของจิตวิทยา

สาขาต่างๆของจิตวิทยา
ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบแล้วว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์แขนงใหญ่แขนงหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมนั้นจิตวิทยามีรากฐานมาจากวิชาปรัชญา ที่ศึกษาจิตด้วยการสังเกตและสำรวจประสบการณ์ด้วยตนเอง ในเมื่อเป็นศาสตร์ที่แยกมาเป็นอิสระแล้ว แนวทางในการศึกษาศาสตร์นี้จึงจำแนกออกเป็นสาขาย่อยหลายสาขา ดังเช่นสาขาสำคัญๆต่อไปนี้
1.จิตวิทยาทั่วไป(General Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์เบื้องต้นของพฤติกรรมเป็นส่วนที่ว่าด้วยหลักการทั่วไปทางจิตวิทยา

2.จิตวิทยาการศึกษา(Educational Psychology) ศึกษาพัฒนาการเรียนการสอนและวิธีการส่งเสริมประสิทธิภาพของการเรียนรู้โดยนำหลักทางจิตวิทยามาใช้

3.จิตวิทยาพัฒนาการ(Developmental Psychology) ศึกษาพัฒนาการด้านต่างๆของมนุษย์ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งถึงวัยต่างๆ โดยเน้นทำความเข้าใจการพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

4.จิตวิทยาสังคม(Social Psychology) เป็นสาขาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของบุคคลที่มีผลกระทบกับสังคมไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

5.จิตวิทยาอุตสาหกรรม(Industrial Psychology) เป็นสาขาที่ค้นหาวิธีการและหลักการของจิตวิทยาที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานของธุรกิจต่างๆ เช่น ในอุตสาหกรรมโรงงาน ธุรกิจการบริการต่างๆเป็นต้น ตลอดจนยังเป็นการศึกษาผลของสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆที่มีผลต่อการทำงานด้วย

6.จิตวิทยาการทดลอง(Experimental Psychology) ศึกษาพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์โดยเน้นใช้วิธีการทดลองในห้องปฏิบัติการ หรือเป็นกระบวนการทดลองในลักษณะอื่นๆเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุและผลของพฤติกรรมได้อย่างเชื่อมั่นมากขึ้น เช่น การทดลองเรื่องการเรียนรู้การคล้อยตาม กาารอบรมเลี้ยงดูเป็นต้น

7.จิตวิทยาอปกติ(Abnormal Psychology) เป็นการศึกษาสาเหตุ การป้องกัน แก้ไขพฤติกรรมที่มีความผิดปกติของมนุษย์ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย

8.จิตวิทยาคลินิก(Clinical Psychology) เป็นการศึกษาถึงการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคและการให้บริการบำบัดรักษามนุษย์ที่มีปัญหาทางจิต เช่น ปัญหาการก่ออาชญากรรม การติดยาเสพติดเป็นต้น

กลุ่มแนวคิดที่สำคัญทางจิตวิทยา (กลุ่ม5-6)

 5.กลุ่มเกสตัลท์ (Gestalt Psychology)
นักจิตวิทยาคนสำคัญกลุ่มนี้ได้แก่ Max Werthimer , Kurt Koffka และ Wolfgang Kohler ทั้งหมดเป็นชาวเยอรมันเชื้อสายยิว กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงหน่อยรับสิ่งเร้าที่อยู่นิ่งเฉยเท่านั้น แต่จิตมีการสร้างกระบวนการประมวลข้อมูลที่รับเข้ามาและส่งผลออกไปเป็นข้อมูลใหม่ หรือสารสนเทศชนิดใหม่ นักจิตวิทยากลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มนี้เน้นอธิบายว่าการเรียนรู้เกิดจากการรับรู้เป็นส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อยรวมกัน เพราะคนเราจะรับรู้สิ่งต่างๆในลักษณะรวมๆได้ดีกว่ารับรู้ส่วนปลีกย่อย กลุ่มนี้เห็นว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการรับรู้เป็นส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อยรวมกัน มนุษย์จะรับในสิ่งที่ตนเองสนใจเท่านั้น สิ่งใดที่สนใจรับรู้จะเป็นภาพ สิ่งใดที่ไม่ได้สนใจรับรู้จะเป็นพื้น ดังเช่นรูปภาพข้างบนถ้าสนในมองที่สีขาวเราจะมองเห็นเป็นแก้ว แต่ถ้าเราสนใจมองสีดำเราจะเห็นเป็นรูปคนสองคนกำลังหันหน้าเข้าหากัน

  รูป Abraham Maslow
 
6.กลุ่มมนุษยนิยม (Humanistic Approach)
นักจิตวิทยาที่สำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ Abraham Maslow และ Carl Rogers กลุ่มนี้มีความเชื่อว่า
1.เราสามารถเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ได้ดีขึ้นด้วยการศึกษาถึงการรับรู้ของบุคคลที่เกี่ยวกับตนเอง ต่อบุคคลอื่น และต่อโลกที่อาศัยอยู่
2.มนุษย์ไม่ถูกควบคุมโดยสิ่งเร้าภายนอกหรือสัญชาตญาณไร้สำนึก มนุษย์มิใช่ผู้ถูกกระทำ แต่เชื่อว่ามนุษย์มีอิสระในการเลือกกระทำหรือกำหนดการกระทำของตนเองและยังสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมไปตามที่เราต้องการได้
3.มนุษย์นั้นมีคุณค่า เพราะมนุษย์มีลักษณะสำคัญที่ทำให้แตกต่างไปจากสัตว์ คือมีความมุ่งมั่นอยากเป็นอิสระ สามารถกำหนดตัวเองได้และมีพลังจูงใจที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ระดับที่สมบูรณ์ขึ้น และมีแน้วโน้มที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นสมบูรณ์ที่สุด

กลุ่มแนวคิดที่สำคัญทางจิตวิทยา (กลุ่ม3-4)


3.กลุ่มพฤติกรรมนิยม(Behaviorism)
ผู้นำกลุ่มนี้ได้แก่ John B.Watson ซึ่งเชื่อว่าการศึกษาบุคคลจะต้องพิจารณาพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมามากกว่าระบบการทำงานภายใน ดังน้้นเนื้อหาจิตวิทยาจึงควรเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่สามารถสังเกตและวัดได้ชัดเจนเท่านั้น แนวคิดของวัตสันที่ว่า จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม จึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาการของจิตวิทยาในระยะต่อมาทำให้เกิดจิตวิทยาที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง มักสนใจศึกษาสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองด้านการกระทำเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มนี้ไม่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวของบุคคล เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่สังเกตและวัดได้ยาก ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์


4.กลุ่มจิตวิเคราะห์(Psychoanalysis) 
ผู้นำกลุ่มได้แก่ Sigmund Freudฟรอยด์เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ส่วนมากกำหนดขึ้นโดยสัญชาตญาณ ซึ่งมีมาตั้งแต่กำเนิด สัญชาตญาณเหล่านี้ส่วนมากจะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก เขาเชื่อว่าการทำงานของจิตแบ่งเป็น3ระดับ เปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็งลอยอยู่ในทะเลคือ
1.จิตรู้สำนึก (Conscious) เป็นส่วนที่โผล่ผิวน้ำขึ้นมา ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก
2.จิตก่อนสำนึก (Preconscious) เป็นส่วนที่อยู่ใกล้ๆผิวน้ำ เป็นเรื่องของความจำที่บุคคลเก็บสะสมไว้ ซึ่งอาจจะนึกไม่ออกในทันทีแต่ไม่ช้าก็เรียกความจำนั้นออกมาได้
3.จิตไร้สำนึก (Unconscious) เป็นส่วนใหญ่ของก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ จิตส่วนนี้ฟรอยด์เชื่อว่ามีอิทธิพลมากต่อพฤติกรรมของมนุษย์ กระบวนการจิตไร้สำนึกนี้หมายถึง,ความคิด,ความกลัวและความปราถนาของมนุษย์ ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเก็บกดไว้โดยไม่รู้ตัว แต่มีอิทธิพลต่อเขา พลังของจิตไร้สำนึกอาจจะปรากฏขึ้นในรูปของความฝัน การพลั้งปาก หรือการแสดงออกมาเป็นกิริยาอาการที่บุคคลทำโดยไม่รู้ตัวเป็นต้น

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กลุ่มแนวคิดที่สำคัญทางจิตวิทยา (กลุ่ม1-2)


นับตั้งแต่ Wilhelm Wundt ได้วางรากฐานการทดลองค้นคว้าทางจิตวิทยา โดยก่อตั้งห้องทดลองทางจิตวิทยาขึ้นในปี ค.ศ.1879 วิชาจิตวิทยาเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในวงการต่างๆ เช่นวงการแพทย์ การศึกษา การปกครอง จนกลายเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการอาชีพทุกสาขา มีนักจิตวิทยาสนใจศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมากมาย ผู้ที่มีความเห็นสอดคล้องกันก็จะจับกล่มกันเผยแพร่แนวความคิดของตน ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มแนวคิดหรือแนวทัศนะหลายกลุ่มด้วยกัน ซึ่งแนวคิดทางจิตวิทยาที่สำคัญ
มี 6 กลุ่มดังนี้

1.กลุ่มโครงสร้างของจิต (Structuralism)
แนวคิดกลุ่มนี้นับว่าเป็นกลุ่มแรกที่มีแนวคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ผู้นำกลุ่มคือWilhelm Wundt ความเชื่อที่สำคัญของกลุ่มนี้คือ จิตเป็นโครงสร้างจากองค์ประกอบเล็กๆที่เรียกว่า จิตธาตุ ซึ่งมีอยู่3องค์ประกอบคือ
1.การสัมผัส (Sensation) คือการที่อวัยวะสัมผัสรับพลังงานจากสิ่งเร้า เช่น มือแตะของร้อน หูฟังเสียงเพลง เป็นต้น
2.ความรู้สึก (Felling) คือการแปลความหมายจากการสัมผัสสิ่งเร้านั้นๆ
3.มโนภาพ (Image) คือการคิดออกมาเป็นภาพในจิตใจ
วิธีการศึกษาของกลุ่มนี้คือ วิธีการพินิจภายใน (Introspection) อันได้แก่การที่จะทราบถึงจิตธาตุของบุคคลโดยวิธีการขอร้องให้รายงานการสัมผัสและความรู้สึกรวมทั้งความคิดของตนเองต่อสิ่งต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการทดลอง เช่น นาฬิกา เครื่องมือสำหรับบันทึกการทดลอง เป็นต้น



2.กลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism)
แนวคิดกลุ่มนี้มุ่งอธิบาย หน้าที่ของจิต โดยเชื่อว่า จิตมีหน้าที่ควบคุมกระบวนการกระทำกิจกรรมของร่างกาย เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ผู้นำกลุ่มนี้คือ William james กลุ่มนี้มีแนวคิดที่สำคัญ 3 ประการ
1.การแสดงออกของบุคคล เป็นการแสดงออกของจิตเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม
จึงมุ่งสนใจศึกษาวิธีการเรียนรู้ การจูงใจ การแก้ปัญหา การจำ การลืมของมนุษย์
2.การแสดงออกทั้งหลายมีความเกีี่ยวข้องกับประสบการณ์ของบุคคลแต่ละคน
3.การเรียนรู้นั้นมุ่งที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
วิธีการศีกษาของกลุ่มนี้ส่วนมากใช้การสังเกตพฤติกรรมและยังคงใช้วิธีพินิจภายในอยู่บ้าง

ความหมาย และ ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา


ความหมายของจิตวิทยา 
จิตวิทยาแปลมาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่าPsychology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า
Psyche + logos (จิตใจ+วิชา) ฉะนั้นจิตวิทยาจึงแปลว่า วิชาที่ว่าด้วยจิตใจ ปัจจุบันนักจิตวิทยาอธิบายว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตของมนุษย์ คำว่า พฤติกรรม(Behavior)หมายถึงการกระทำ ส่วนคำว่า กระบวนการทางจิตนั้นจะเน้นถึงการทำงานของจิตใจของมนุษย์ เช่น การคิด จินตนาการ การฝัน เป็นต้น


ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยา 
เดิมจิตวิทยาอยู่ในสาขาของวิชาปรัชญา นั่นก็คือการหาความจริงต่างๆ ในสมัยโบราณจิตวิทยาใช้วิธีค้นหาความจริงโดยการคาดคะเนความจริงและหาเหตุผลส่วนตัวของนักปราชญ์มาประกอบกับการอธิบายความจริงที่ได้ค้นพบ มนุษย์นั้นมีความสนใจและพยายามค้นหาความจริงเกี่ยวกับตัวเองตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว กล่าวคือ

1.ยุคโชคลางในสมัยโบราณ เกิดจากความกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ และเข้าใจกันว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องพัวพันอยู่กับสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ เช่น ผีสาง เทวดา แม่มด หมอผี และมักจะเชื่อในเรื่องโชคลางต่างๆ ความเชื่ออย่างนี้ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยอยู่

2.ยุคปรัชญา เป็นระยะเวลาที่ต่อจากยุคโชคลาง โดยมีนักปราชญ์ต่างๆช่วยกันคิดค้นหาความหมายของชีวิต เช่น ค้นหาว่าชีวิตที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร เมื่อชีวิตดับแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จิตหรือวิญญาณคืออะไร อยู่ที่ไหน เป็นต้นปรัชญานั้นประกอบไปด้วยความนึกคิดอันชาญฉลาดที่แสดงให้เห็นถึงอุดมคติและทัศนคติส่วนตัวของนักปราชญ์

3.ยุคค้นคว้า ระยะต่อมามนุษย์เริ่มสนใจค้นหาข้อเท็จจริงมากขึ้น พวกที่สนใจปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ค้นพบสาขาวิชาแตกแขนงออกไป เช่น คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ พวกที่ค้นคว้าเกี่ยวกับมนุษย์เช่น กายวิภาค สรีรศาสตร์ เป็นต้น จิตวิทยาก็เป็นวิชาหนึ่งที่แยกมาจากปรัชญาและมีวิชาที่แยกตามอีกคือสังคมศาสตร์  อาจกล่าวได้ว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชีววิทยากับสังคมศาสตร์ การตีความของวิชานี้จึงแตกแตกต่างกันไปจนทำให้เกิด สำนักศึกษา หรือกลุ่มแนวคิดทางจิตวิทยา เกิดขึ้นหลายกลุ่ม